ตำนานดาบเลื่องชื่อ ไทย ยุโรป ญี่ปุ่น
เนื่องจากทุกสถานที่บนโลกของเรามีตำนานมากมาย สำหรับวันนี้เราก็ได้ยกเอาตำนานหรือประวัติของดาบที่มีเค้าของความเป็นจริงมาให้รู้จักกัน ซึ่งเราหยิบยกมาเล่าถึง 6 เล่มด้วยกัน จะมีอะไรบ้าง ตามไปดูกันเลย
พระแสงดาบคาบค่าย
เป็นดาบของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช หลังประกาศอิสรภาพที่เมืองแกลง สมเด็จพระนเรศวรมหาราชอพยพผู้คนมารวมกันที่กรุงศรีอยุธยาเนื่องจากหากต้องแบ่งทหารไปดูแลหลายๆเมืองอาจจะทำให้ต้านทานข้าศึกไว้ไม่ได้
ในปี พ.ศ. 2129 พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงได้ยกกองทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา ซึ่งในเวลานั้นกองทัพพม่าเกรียงไกร ทหารพม่าออกปล้นไปทั่ว เป็นที่หวาดกลัวของชาวไทย สมเด็จพระนเรศวรมหาราชจึงคิดปลุกขวัญและกำลังใจด้วยการทำสงครามจิตวิทยา โดยหากมีโอกาสเหมาะ พระองค์จะนำทัพไปปล้นค่ายพม่าเล่นๆทั้งตอนกลางวันและตอนกลางคืน
และมีครั้งหนึ่งพระองค์ออกไปปล้นค่ายและได้ไล่ต้อนพม่าจนต้องหนีเข้าค่ายหลวงของพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง เมื่อตามไปถึงสมเด็จพระนเรศวรมหาราชก็ทรงคาบพระแสงดาบนำทหารปีนค่ายพม่า ถึงแม้พระองค์จะถูกแทงจนตกลงมาแต่ก็ยังสามารถฝ่าวงล้อมพม่ากลับค่ายหลวงมาได้ ทำให้เหล่าทหารไทยหมดความเกรงกลัวต่อทัพพม่า เนื่องด้วยวีรกรรมการปีนค่ายพม่าของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่เป็นเหมือนการเย้ยทัพพม่า
ทำให้ในเวลาต่อมา พระแสงดาบที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงคาบตอนปีนค่ายพม่าก็ได้ชื่อว่า ‘พระแสงดาบคาบค่าย’ และถูกใช้ในพิธีสำคัญต่างๆตลอดมา
พระแสงของ้าว เจ้าพระยาแสนพลพ่าย
เป็นอาวุธของสมด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อครั้งทรงทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา พระแสงของ้าวเล่มนี้ถูกใช้ที่หนองสาหร่าย
ในวันออกศึก เจ้าพระยาไชยานุภาพ ช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเกิดตกมันวิ่งเข้ากลางดงข้าศึก สมด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเห็นพระมหาอุปราชาทรงอยู่ใต้ต้นไม้กับช้างเจ้าพระยาอีกหลายเชือก สมด็จพระนเรศวรมหาราชทรงมีสติตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว คิดหาหนทางชนะ พระองค์จึงได้ท้าชนช้างกับพระมหาอุปราชา ซึ่งพระมหาอุปราชาก็ทรงรับคำท้า ทรงช้างพลายพันธกอมาชนกัน เจ้าพระยาไชยานุภาพถูกชนเสียหลักทำให้สมเด็จพระนเรศวรมหาราชถูกฟัน แต่พระองค์หลบทัน เพียงแค่พระมาลาหนังขาดเท่านั้น ก่อนที่เจ้าพระยาไชยานุภาพจะชนช้างพลายพันธกอจนเสียหลักคืนได้ ทำให้สมเด็จพระนเรศวรมหาราชประสบช่อง ทรงฟันพระมหาอุปราชาด้วยพระแสงของ้าวที่อังสะขวา สิ้นพระชนม์บนคอช้าง
หลังจากนั้นเจ้าพระยาไชยานุภาพ ช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชก็ได้เลื่อนยศเป็นเจ้าพระยาปราบหงสา ส่วนพระแสงของ้าวก็ได้รับชื่อในเวลาต่อมาว่า ‘พระแสงของ้าว เจ้าพระยาแสนพลพ่าย’
คุซานางิ (Kusanagi) ดาบตัดหญ้า
ดาบคุซานางิ เป็นดาบที่อยู่ในตำนานเทพปกรณัมญี่ปุ่น ว่าด้วยการเดินทางของสุซาโนโอะ (Susanoo) เทพเจ้าแห่งพายุที่ถูกขับไล่จากสวรรค์ ก่อนจะได้พบกับเทพแห่งพื้นพิภพชาย-หญิงที่ต้องบูชายัญลูกสาวตัวเองให้งูยักษ์แปดหัวแปดหาง ยามาตะ โนะ โอโรจิ (Yamata No Orochi)ไปแล้วถึง 7 คน และปีนี้ก็คิวของลูกสาวคนสุดท้าย นั่นก็คือ คุชินาดะ ฮิเมะ (Kushinada Hime)
สุซาโนโอะจึงวางแผนให้เทพแห่งพื้นพิภพสร้างกำแพงยาวที่มีประตูคั่น 8 บาน และมีการวางถังสาเกไว้หลังประตูทุกบาน เมื่อยามาตะ โนะ โอโรจิมาถึง มันก็กินสาเกจนผล็อยหลับไปเป็นโอกาสให้สุซาโนโอะเข้าไปสังหาร แต่ระหว่างที่ไล่ฟัน ดาบของสุซาโนโอะเกิดบิ่น และเมื่อทะลวงเข้าไปในตัวงูยักษ์กลับพบดาบฝังอยู่ สุซาโนโอะเก็บมาและตั้งชื่อว่า ‘ดาบอาเมะ โนะ มุราคุโมะ’(Ame-no-Murakumo-no-Tsurugi)ก่อนที่เขาจะนำไปถวายให้เทวีอามะเทระสึเพื่อไถ่โทษ
เมื่อเวลาผ่านไปเทวีอามะเทระสึต้องการให้หลานชายเดินทางไปปลูกข้าวบนพื้นโลก โดยมอบ ‘ดาบอาเมะ โนะ มุราคุโมะ’ ‘กระจกยาตะ’ และ ‘หยกยาซากะนิ’ติดตัว ทำให้ของวิเศษทั้งสามได้กลายมาเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของราชวงศ์ญี่ปุ่นนับแต่บัดนั้น
ชื่อ ‘คุซานางิ’เป็นชื่อที่ถูกตั้งขึ้นมาทีหลัง ตามตำนานในรัชสมัยของจักรพรรดิเคย์โกะ พระองค์มีพระโอรสฝาแฝด แต่โอรสองค์น้องกลับสังหารพี่ชาย ทำให้พระจักพรรดิหลีกเลี่ยงพระโอรส แม้เจ้าชายโอสุจะปราบศัตรูไปไม่น้อย จนได้รับฉายาว่า ‘ยามาโตะ ทาเครุ’
สุดท้ายจักรพรรดิเคย์โกะก็มีคำสั่งให้เจ้าชายโอสุไปปราบกบฏทางทิศตะวันออกของแผ่นดิน ด้วยความรู้สึกน้อยใจที่เหมือนถูกพ่อสั่งให้ไปตายทำให้เจ้าชายเข้าไปคุยกับเจ้าหญิงยามาโตะ ผู้เป็นมิโกะของเทวีอามะเทระสึในแคว้นอิเสะ ซึ่งนางก็ได้ให้ยืมดาบอาเมะ โนะ มุราคุโมะ เพื่อเป็นกำลังใจ
ในการต่อสู้ครั้งหนึ่งเจ้าชายถูกศัตรูเผาทุ่งหญ้าล้อมรอบตัว เขาจึงจับดาบแล้วกวัดแกว่งดาบก่อนจะเห็นว่าดาบสามารถควบคุมสายลมได้ เจ้าชายจึงได้ใช้ดาบพัดเปลวไฟโดยรอบจนได้รับชัยชนะ
หลังจากศึกนี้ เจ้าชายยามาโตะ ทาเครุ ก็ได้ตั้งชื่อดาบนี้ใหม่ว่า‘ดาบตัดหญ้า’ หรือ ‘ดาบคุซานางิ’ (Kusanagi-no-Tsurugi) ภายหลังเจ้าชายยามาโตะ ทาเครุ ได้เสียชีวิตไปในศึกอื่น เพราะไม่ได้นำดาบวิเศษนี้ไปใช้งาน ตัวดาบจึงถูกเก็บไว้ในศาลเจ้า
เครื่องราชกกุธภัณฑ์ของญี่ปุ่นยังคงถูกใช้ในงานพระราชพิธีขึ้นครองราชย์ของจักรพรรดิญี่ปุ่นทุกพระองค์ แต่ตามปกติแล้ว กระจกยาตะจะถูกเก็บไว้ที่ศาลเจ้าอิเสะ จังหวัดมิเอะ ส่วน หยกยาซากะนิ กับ ดาบคุซานางิ จะเก็บไว้ที่ศาลเจ้าอัตสึตะ ในเมืองนาโงย่า จังหวัดไอจิ
มุรามาสะ (Muramasa) ดาบต้องคำสาป
มุรามาสะ เซ็นโง คือช่างตีดาบในสมัยมุโระมะชิ (ช่วงศตวรรษที่ 14-16 ) ตามตำนานบอกว่าเขาคือลูกศิษย์ของสำนักตีดาบมาซามุเนะก่อนที่จะแยกตัวออกมา ตัวของมุรามาสะเองนั้นเต็มไปด้วยความโกรธแค้นและความบ้าคลั่งและเขาได้ถ่ายทอดมันลงไปในดาบที่เขาตี ทำให้ผู้ที่ครอบครองดาบของเขานั้นกลายเป็นนักรบที่บ้าคลั่งและโหดร้ายเหมือนกับตัวของมุรามาสะเอง
ครั้งหนึ่งมุรามาสะเคยท้าเพื่อหาสุดยอดดาบกับสำนักดาบมาซาบุเนะ โดยการนำดาบของทั้งสองไปปักไว้ในลำธาร หันคมดาบต้านกระแสน้ำ ดาบของมุรามาสะนั้นตัดได้ทุกอย่างที่ผ่านคมมีดไป
แต่ผลการประลองดาบของสำนักมาซาบุเนะเป็นฝ่ายชนะเพราะดาบนั้นเป็นดาบแห่งเมตตาต่างจากดาบของมุรามาสะที่มีแต่ความโหดร้าย กระหายเลือด
นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าอื่นเกี่ยวกับอาถรรพ์ของดาบอีกว่า มีการใช้ดาบของมุรามาสะในการฆ่าสมาชิกของตระกูลโทคุงาวะ หนึ่งในตระกูลที่มีอำนาจมากที่สุดในญี่ปุ่นสมัยนั้น ทำให้หลังจากนั้นการครอบครองดาบของมุรามาสะนั้นจึงถือเป็นเรื่องที่ผิดและถ้าหากใครที่ฝ่าฝืนจะถูกลงโทษอย่างหนัก
เนื่องจากมีการกวาดล้างดาบของมุรามาสะอย่างหนัก ทำให้หลายๆคนที่ครอบครองอยู่นั้นพยายามซ่อนและลบสัญลักษณ์ชื่อของมุรามาสะออก ในปัจจุบันการหาดาบของมุรามาสะนั้นเป็นเรื่องยากเนื่องจากถูกกวาดล้างและมีการผลิตของเลียนแบบออกมามากมาย
เอ็กซ์คาลิเบอร์ (Excalibur) ดาบในศิลา
เรื่องราวเกิดขึ้นในช่วงยุคกลางของยุโรป ราวคริสต์ศตวรรษที่ 5 หลังจากที่อาณาจักรบริเทนสั่นคลอนเพราะบัลลังก์ไร้กษัตริย์มานาน ในที่สุดอูเธอร์ เพนดรากอนก็ขึ้นครองบัลลังก์ เขาได้แอบมีความสัมพันธ์กับไอเยอร์น่า ภรรยาของดยุกแห่งคอร์นวอลล์ จนสุดท้ายเธอก็ได้ให้กำเนิดอาร์เธอร์ขึ้นมา
ตอนนั้นผู้ที่เป็นที่ปรึกษาของอูเธอร์ก็คือเมอร์ลิน เขาคือผู้ที่พาอูเธอร์ไปเอาดาบเอ็กซ์คาลิเบอร์ที่ทะเลสาบ โดยมีเทพธิดาแห่งทะเลสาบชูดาบเล่มนี้ขึ้นเพื่อมอบให้กับอูเธอร์ ทำให้อูเธอร์ชนะการรบจนเกือบรวมรวบแผ่นดินได้ทั้งหมด
แต่อูเธอร์นั้นกลับละเลยหน้าที่กษัติรย์ ไม่ดูแลบ้านเมืองจนเมอร์ลินทนไม่ได้ วางแผนให้อูเธอร์ตามไปที่ภูเขาและขอยืมดาบเอ็กซ์คาลิเบอร์ อูเธอร์ก็มอบให้โดยไม่เอะใจ ทันใดนั้นเมอร์ลินใช้เวทมนตร์ปักดาบลงบนหินและบอกว่าขอฝากดาบเล่มนี้จนกว่าจะมีทายาทกษัตริย์ที่แท้จริงมารับไป
และได้มีคำจารึกไว้ว่า “ผู้ใดที่สามารถชักดาบขึ้นจากแท่งหินนี้ได้ เขาผู้นั้นจะได้ ครอบครองแผ่นดินทั้งปวงบนเกาะอังกฤษ” จึงทำให้ถกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ‘ดาบในศิลา’
หลังจากอูเธอร์เสียชีวิตลง แผ่นดินก็แทบลุกเป็นไฟ เพราะบัลลังก์ไร้ผู้ครอบครองจนผ่านไป 15 ปี ตลอดมามีผู้พยายามลองดึงดาบ แต่ไม่มีใครดึงได้ และแล้วเมอร์ลินก็ได้พาอาเธอร์มาพร้อมกับความหวัง ซึ่งอาเธอร์ก็สามารถดึงดาบเอ็กซ์คาลิเบอร์ได้อย่างง่ายดาย เมื่อได้ครองบัลลังก์ กษัตริย์อาเธอร์ก็ได้ทำการปราบศัตรูจนหมด โดยมีเมอร์ลินเป็นที่ปรึกษาหลังจากขึ้นครองราชย์ กษัตริย์อาเธอร์ ได้ก่อตั้งกลุ่มอัศวินโต๊ะกลมขึ้นมา (Knights of the Round Table) โดยโต๊ะกลมหมายถึงความเท่าเทียมกันของสมาชิก ไม่มีหัวหรือท้าย
เรื่องราวการผจญภัยอันน่าตื่นเต้นของบรรดาเหล่าอัศวินโต๊ะกลมของกษัตริย์อาเธอร์ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการออกตระเวนเพื่อค้นหาจอกศักดิ์สิทธิ์ของพระไครสท์เพื่อตำแหน่งอภิอัศวินอันเป็นสุดยอด
แลนเซล็อตหลังจากที่ผิดหวังจากการตามหาจอกศักดิ์สิทธิ์ ก็แอบไปมีความสัมพันธ์กับราชินีกวินีเวียร์ โดยที่ถูกมอร์เดร็ดล่วงรู้ ทำให้ความสัมพันธ์อันดีของอาเธอร์และแลนเซล็อตจึงจบลง เหล่าอัศวินแตกออกเป็น 2 กลุ่มเกิดเป็นศึกกลางเมืองทำให้เหล่าอัศวินล้มตายไปมากมาย
มอร์เดร็ดที่ต้องการครอบครองบัลลังก์ก็ถูกอาเธอร์ฆ่าตาย ส่วนอาเธอร์เองก็ได้รับบาดเจ็บหนัก ก่อนสิ้นพระชนม์ อาเธอร์ได้มอบดาบเอ็กซ์คาลิเบอร์ให้อัศวินที่เหลืออยูนำไปคืนที่ทะเลสาบ เมื่อดาบถูกขว้างไปกลางน้ำก็ปรากฎมือขึ้นมารับดาบเอาไว้ ก่อนจะจมหายไป
ดูแรนดัล (Durendal) ดาบลึกลับที่ถูกเสียบไว้ที่หน้าผา
คือดาบลึกลับเล่มหนึ่งที่ถูกเสียบไว้บนหน้าผาที่มองเห็นได้จากลานแห่งเซนต์ไมเคิล ในเมืองโรคามาดูร์ ประเทศฝรั่งเศส
ทุกคนเชื่อว่า มันคือดาบดูแรนดัลของอัศวินผู้ยิ่งใหญ่ ‘โรแลนด์’ โดยโรแลนด์ที่พลาดท่าให้กับพวกซาราเซนได้พยายามทำลายดาบนี้ทิ้ง เพราะไม่อยากให้ดาบตกไปอยู่ในมือศัตรู เขาจึงฟาดดาบใส่หน้าผา แต่แทนที่ดาบจะหักกลับทำให้เกิดรอยแยกบนผาแทน ซึ่งดาบเล่มนี้ก็เสียบอยู่ที่หน้าผาเรื่อยมา จนกระทั่งในปี 2011 ดาบก็ถูกเอาออกเพื่อนำมอบให้กับพิพิธภัณฑ์ในปารีสเพื่อจัดแสดง
ตามตำนานว่ากันว่าดาบดูแรนดัลเป็นดาบที่มีพลังอำนาจแห่งลมและเป็นดาบที่ไม่สามารถทำลายได้ เชื่อว่าเป็นดาบประจำตัวของเฮกเตอร์ แห่งทรอย และต่อมาก็กลายเป็นดาบของอัศวินโรแลนด์ ตามที่ปรากฏใน “เพลงของโรลันด์” กล่าวถึงภายในตัวดาบ บรรจุฟันหนึ่งซีของเซนต์ปีเตอร์ เลือดของเซนต์บาซิล เส้นผมของเซนต์เดนนิสและชิ้นส่วนอาภรณ์ของพระแม่มารี
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ ? มีดาบหลายเล่มที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันทั้งนั้นเลยใช่ไหมคะ แต่ละเล่มก็มีเรื่องเล่าที่น่าสนใจ ทำให้อยากจะได้เห็นของจริง ๆ สักครั้ง แต่ว่าดาบเหล่านี้ก็ได้ถูกเก็บรักษาไว้หรือสูญเสียไปตามกาลเวลาที่ผ่านมานานแล้ว เหลือคงไว้แต่ตำนานเล่าขานให้ผู้คนได้เรียนรู้เท่านั้น
เรียบเรียงโดย : จิตรทิวา ตั้งทองเพ็ชร (วิวา)
ภาพ : ณัฐพล พรมรินทร์ (เจมส์)
นักศึกษาฝึกงานกองบรรณาธิการ สนพ.1168 รุ่น 1/63
บทความที่เกี่ยวข้อง ::