บัญชีการอ่าน โครงการส่งเสริมการอ่านของญี่ปุ่น
“Every since I was little my mother had told me,
if you don’t know something, go to the library and look it up.”
– Haruki Murakami –
สวัสดีค่าา สวัสดีนักอ่านที่น่ารักทุกท่านนะคะ ผ่านปีใหม่มา 3 เดือนแล้ว มีเป้าหมายไหนที่ตั้งไว้ตั้งแต่ต้นปีสำเร็จบ้างหรือยังเอ่ย ? (ใครที่กำลังลดความอ้วนแล้วยังทำใจบอกเลิกหมูกระทะไม่ได้ เราคือเพื่อนกันจ้า)
แอดมินค่อนข้างเชื่อมั่นว่ามีไม่น้อยที่วางแผนไว้ว่าในแต่ละปีจะอ่านหนังสือให้มากขึ้น อาจจะอยากลบล้างวาทกรรมที่ว่า “คนไทยอ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัด” หรืออ่านเพื่อปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้ตัวเอง เพราะทุกคนต่างก็รู้ถึงประโยชน์ในการอ่านว่ามันมีค่ามหาศาลมากแค่ไหน
วันนี้แอดมินจึงมีโครงการน่ารักๆ เกี่ยวกับการส่งเสริมการอ่านของประเทศญี่ปุ่นมาเล่าให้ฟังด้วยค่ะ เผื่อว่าจะมีนักอ่านสักคนสองคนนำวิธีนี้ไปต่อยอดกับแผนการอ่านของตัวเองให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
เมื่อราวๆ ปี 2016 (หรืออาจจะก่อนหน้านั้น) ประเทศญี่ปุ่นได้จัดตั้งโครงการส่งเสริมการอ่านซึ่งเป็นที่ฮือฮาและได้รับความสนใจอย่างมาก นั่นคือ ‘บัญชีการอ่าน’
เจ้าสมุดขนาดเท่าฝ่ามือนี้มีแรงบันดาลใจมากจากสมุดบัญชีธนาคาร หัวใจหลักในการใช้งานคือ ‘บันทึกประวัติการยืมหนังสือ’ เมื่อทำการยืมหนังสือจากห้องสมุดมาแล้วก็นำสมุดบัญชีการอ่านเข้าเครื่องที่มีลักษณะเหมือนตู้เอทีเอ็ม เพื่ออัปเดทว่าได้ยืมหนังสือเรื่องอะไร จากห้องสมุดใด วันที่ยืมคือวันที่เท่าไร และมูลค่าของหนังสือที่ยืม ซึ่งจะมีระบุในตอนท้ายด้วยว่าจากหนังสือที่ยืมมาทั้งหมดนั้นมีมูลค่ารวมกันได้เท่าไรอีกด้วย (เด็กบางคนในญี่ปุ่นได้เป็นแสนเยนเลยนะเอ้อ !!)
โครงการนี้เป็นโครงการที่ปลูกจิตสำนึกให้ทุกคนนั้นรักที่จะสะสมความรู้เหมือนกับที่สะสมเงินออม รูปแบบจึงคล้ายกับสมุดบัญชีออมทรัพย์นั่นเอง (สมุดบัญชีหนึ่งเล่มสามารถบันทึกรายการหนังสือได้ 216 รายการ คิดดูสิคะว่าถ้าหมดหนึ่งเล่มเท่ากับได้อ่านหนังสือสองร้อยกว่าเล่มเลยนะ !) และยังลดปัญหาการเข้าห้องสมุดน้อยลงของคนญี่ปุ่นด้วย
แม้จะมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ทำให้ความนิยมเริ่มลดลงและเงียบหายไป ทว่าเมื่อเดือนที่แล้วสำนักข่าวของญี่ปุ่นบางสำนักได้ทำสกู๊ปนี้ขึ้นมาอีกครั้ง คาดว่าโครงการนี้จะกลับมาเป็นที่สนใจในกระแสสังคมทั่วโลกอย่างแน่นอน
บอกได้คำเดียวเลยค่ะว่าน่ารักกกกกกกกกก ! ญี่ปุ่นเป็นนักใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ จริงๆ ไม่แปลกใจเลยที่ประชากรของเขานั้นมีชีวิตที่เรียกได้ว่า ‘มีประสิทธิภาพ’ อย่างมาก สาเหตุหลักๆ มาจากการอ่านหนังสือเยอะนี่ล่ะค่ะ
หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้นักอ่านทุกท่านมุ่งมั่นในการวางแผนการอ่านต่อไปนะคะ อาจจะนำวิธีนี้ไปประยุกต์ให้ตัวเองสามารถทำได้ง่ายๆ เพื่อที่เราจะเป็นคนมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา
頑張って! (สู้ๆ นะ !)
เรียบเรียงโดย : นักศึกษาฝึกงานบรรณาธิการ น้องอิม
แหล่งอ้างอิง ::
本がドンドン読みたくなる「読書通帳」って知ってる?
– https://tabi-labo.com/222772/reading-passbook
「国立台湾博物館 土銀展示館」通帳記帳機
– https://www.tabitabi-taipei.com/more/2013/0619/index.php