1168 PUBLISHING
สาระแฟนตาซี

ยุทธการแห่แมวปราบอียิปต์: เมื่อเปอร์เซียใช้ “แมว” ชนะสงคราม ?!

               เรื่องที่จะเล่าในวันนี้เป็นปกรณัมโบราณและเกร็ดประวัติศาสตร์ตลก ๆ เกี่ยวกับสงครามและสัตว์สี่ขาที่เขาว่ากันว่ามักมีนิสัย “หยิ่งทะนง” และเป็นเจ้านายสูงสุดของบ้านให้ทาสทั้งหลายคอยรับใช้ (ด้วยการให้อาหาร อาบน้ำ และเก็บกระบะทราย) ใช่แล้ว ! วันนี้เราจะมาพูดถึงประวัติศาสตร์สงครามที่มีแมวมาเอี่ยวด้วยนั่นเอง เอ๊ะ แล้วเจ้าเหมียวไปวุ่นวายอะไรกับสงครามเขาด้วยล่ะเนี่ย ลองมาดูประเด็นสนุก ๆ ของวันนี้กัน !!

ประเด็นของวันนี้

    • ทำไมคนอียิปต์จึงบูชาแมว ? คำตอบอยู่ในหัวข้อ “บาสเต็ต (Bastet) วิฬาร์เทวีแห่งลุ่มแม่น้ำไนล์”
    • ทัพเปอร์เซียใช้วิธีอะไรจึงชนะสงคราม แถมใช้แค่แมวด้วยนะ ?! คำตอบอยู่ในหัวข้อ “ยุทธการใช้แมวโจมตีสุดเก๋ไก๋ของกษัตริย์เปอร์เซีย”

บาสเต็ต (Bastet) วิฬาร์เทวีแห่งลุ่มแม่น้ำไนล์

               บาสเต็ตเป็นเทวีองค์สำคัญองค์หนึ่งของแคว้นอียิปต์โบราณ โดยชาวอียิปต์เชื่อกันว่าพระองค์เปรียบเสมือนมารดาแห่งสรรพชีวิตและเป็นตัวแทนแห่งความอุดมสมบูรณ์อันหาใครเปรียบมิได้ นอกจากนี้ เทวีบาสเต็ตยังมีชื่อเสียงในด้านการพิทักษ์บ้านเรือนจากวิญญาณชั่วร้ายตลอดจนโรคภัยต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคที่เกิดแต่เด็กและสตรี ไม่เพียงเท่านั้น ผู้ที่นับถือศาสนาอียิปต์โบราณ (หรือที่เรียกกันว่าศาสนาของชาวไอยคุปต์) หลายคนยังเชื่อว่าพระองค์มีบทบาทในการนำทางดวงวิญญาณอีกด้วย (แต่ความเชื่อนี้มักไม่ได้รับการยอมรับเท่าใดนัก เนื่องด้วยไม่ตรงกับขอบเขตหน้าที่หลักของพระนางสักเท่าไหร่)

               ในแง่ของประวัติที่มา กล่าวกันว่าเทวีบาสเต็ตเป็นพระธิดาของสุริยเทพ “รา (Ra)” และยังเกี่ยวข้องกับ “ดวงตาแห่งเทพรา (the Eye of Ra)” หรือเครื่องรางของขลังที่ชาวอียิปต์นิยมใช้โดยสามารถสวมได้ทั้งคนเป็นและคนตาย รูปลักษณ์ของบาสเต็ตมักปรากฏเป็นหญิงที่มีศีรษะเป็นแมวหรือแมวนั่นเอง

               ลำดับต่อมาเป็นเรื่องเกี่ยวกับชื่อของบาสเต็ต ชื่อของพระนางนั้นมีการปรับเปลี่ยนตามกาลเวลาหลายครั้งด้วยกัน โดยในฉบับความเชื่อดั่งเดิมบาสเต็ตเคยมีชื่อว่า B’sst ก่อนจะพัฒนาไปเป็น Ubaste และ Bast จนสุดท้ายมาลงเอยที่ชื่อ Bastet และนอกจากนี้ยังไม่มีการสรุปออกมาอย่างแน่ชัดว่า “บัสเต็ต” นั้นมีความหมายว่าอย่างไร (แถมยังเป็นเรื่องที่แวดวงวิชาการอียิปต์โบราณถกเถียงกันไม่เลิกอีก) จะมีก็แต่ข้อสันนิษฐานของ เจอรัลดีน พินช์ นักอียิปต์วิทยาและนักเขียนที่กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า

” …เนื่องด้วยพระนางนั้นมีความเกี่ยวข้องกับการดูแลรักษา
และเครื่องบำรุงต่าง ๆ ชื่อของบาสเต็ตจึงอาจ
หมายถึง ‘สตรีแห่งกระปุกขี้ผึ้ง’ ก็เป็นได้ “

               ข้อคิดเห็นนี้น่าสนใจมาก ๆ เลยนะ เพราะผู้หญิงกับเครื่องบำรุงผิวเนี่ยเป็นของคู่กันมานมนานเลยล่ะ

               สุดท้ายนี้ หากจะเปรียบเทียบบาสเต็ตกับเทพเจ้าในตำนานปกรณัมแถบอื่น ๆ ดู เราคงเปรียบได้ว่าบาสเต็ตมีความคล้ายคลึงกับเทพธิดาอาร์เทมีส (Artemis) ผู้เป็นตัวแทนของสตรีเพศ การล่าสัตว์ ดวงจันทร์ และความอุดมสมบูรณ์นั่นล่ะ และด้วยเหตุทั้งหมดทั้งมวลนี้เองที่ทำให้เราพอจะเห็นภาพแล้วว่าทำไมคนอียิปต์จึงบูชาแมวเหนือหิ้งกันขนาดนี้ แหม ก็แมวเป็นสัญลักษณ์แทนเทพเจ้าที่พวกเขารักและเคารพนี่นา


ยุทธการใช้แมวโจมตีสุดเก๋ไก๋ของกษัตริย์เปอร์เซีย

               มาเข้าเรื่องยุทธการใช้แมวอันเป็นหัวข้อหลักของเรากันบ้าง (แหม กว่าจะเข้าเรื่องได้) จากบันทึกของโพลีอีนัส (Polyaenus) นักประวัติศาสตร์ชาวมาซิโดเนียระบุไว้ว่า ในครั้งที่ชนชาวเปอร์เซียซึ่งนำโดยกษัตริย์แคมไบซิสที่ 2 (King Cambyses II) เดินหน้ารุกรานดินแดนลุ่มแม่น้ำไนล์หรืออียิปต์ในยุค 525 ปีก่อนคริสตกาลนั้น ยอดกษัตริย์ผู้เฉลียวฉลาดทรงทราบมาว่าเหล่าอียิปต์เคารพบูชาแมวมาก (ถึงมากที่สุด) จึงทรงบัญชาให้ทหารของพระองค์ใช้เจ้าเหมียวสี่ขาทั้งหลายเพื่อป้องกันธนูไฟของฝ่ายเจ้าบ้านเป็นลำดับแรก แน่นอนว่าเมื่อพลธนูอียิปต์เห็นฝ่ายตรงข้ามอุ้มแมวมาด้วยก็เกิดอาการตัดใจยิงไม่ลง กลัวว่ายิงไปแล้วลูกศรจะเสียบพุงกะทิของแมว ๆ อันเป็นที่รักเข้า ก็มันยิงไม่ลงจริง ๆ อะพี่ ?!

               ครั้นเมื่อผู้รุกรานเห็นแล้วว่าพวกอียิปต์โจมตีจากระยะไกลไม่ได้ งานนี้ก็ยิ้มหวานเสร็จแมวสิครับท่าน พวกเปอร์เซียที่มาเหนือกว่าก็ได้ทีวิ่งกรูกันเข้าประชิดกองทัพอียิปต์ทันที แต่การปะทะก็ยังไม่เกิดขึ้นหรอกนะ เพราะฝ่ายคนรักแมวดันไปเห็นว่าโล่ของไอ้พวกนี้มันไม่ธรรมดา มือขางี้สั่นพั่บ ๆ

“เฮ้ยไอ้สองหยุดก่อน !! พวกมันวาดท่านเทพเจ้าลงบนโล่ด้วยเว้ยเฮ้ย ?!”

               ชาวไอยคุปต์ถึงกับงงงวยกันไม่หยุด เพราะจะตีก็ตีมันไม่ได้ เดี๋ยวอาวุธจะไปทำร้ายรูปท่านเทพเจ้าบนโล่ของพวกมันอีก สุดท้ายเรื่องเลยกลายเป็นว่าทัพอียิปต์ถึงคราวแตกพ่ายยับเยิน ไม่ใช่สู้ไม่ได้หรอกนะ เพราะไม่กล้าสู้ต่างหาก… แบบนี้ก็ได้เหรอเนี่ย ?!

               งานนี้พูดเลยว่าแมวนำโชคมีอยู่จริงบนโลก… แต่ไม่ได้นำโชคให้ฝ่ายที่นับถือแมวหรอกนะ ฝ่ายผู้บุกรุกต่างหากที่มีโชคดี ส่วนฝ่ายที่นับถือแมวน่ะโชกเลือดทั้งผอง ! เราจึงขอสรุปเรื่องราวในวันนี้ไว้สั้น ๆ ว่า…

“ทาสแมวตายเพราะแมว”

               ตายกันหมดเพราะเป็นทาสแมวแท้ ๆ เลยเชียวพ่อคุณแม่คุณ !!


บรรณานุกรม

Mark, Joshua J. “Bastet.” Ancient History Encyclopedia, Ancient History Encyclopedia, 3 June 2020, www.ancient.eu/Bastet/.

“สัญลักษณ์ของอียิปต์.” I Seeker, iseeker.weebly.com/symbolsofegypt.html.

“เทพที่สำคัญในอียิปต์ – HieroglyphinEgypt.” Google Sites, sites.google.com/site/hieroglyphinegypt/home/theph-thi-sakhay-ni-xiyipt.

Mark, Joshua J. “The Battle of Pelusium: A Victory Decided by Cats.” Ancient History Encyclopedia, Ancient History Encyclopedia, 1 June 2020, www.ancient.eu/article/43/the-battle-of-pelusium-a-victory-decided-by-cats/.

Kruse, Colton, et al. “War Cats: Egyptians Lost A War Because They Loved Cats.” Ripley’s Believe It or Not!, 28 Apr. 2017, www.ripleys.com/weird-news/pelusium-cats/.

“ศาสนาอียิปต์โบราณ.” Wikipedia, Wikimedia Foundation, 15 Feb. 2020, th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%B4%E0%B8%9B%E0%B8%95%E0%B9%8C%E0%B9%82%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%93.

“Psamtik III.” Wikipedia, Wikimedia Foundation, 3 May 2020, en.wikipedia.org/wiki/Psamtik_III.

เรียบเรียงโดย : ธมลวรรณ กระต่ายทอง