รู้หมือไร่ ?! กว่าจะได้เป็นอัศวินนั้นไม่ง่าย ไปเป็นเด็กเลี้ยงม้าก่อนค่อยว่ากัน
เมื่อกล่าวถึงคำว่า “อัศวิน” ในหัวของหลายคนคงจะเห็นภาพนักรบสุดเท่พร้อมวีรกรรมอันเลื่องลือมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเจ้าหญิงจากสัตว์ประหลาดก็ดี หรือจะเป็นการกอบกู้บ้านเมืองจากวิกฤตก็ดี ที่สำคัญคือ อัศวินมักมาพร้อมกับเกียรติและศักดิ์ศรีในฐานะผู้รับใช้ศาสนาและพระเจ้า แต่ท่านทราบหรือไม่ว่า การเป็นอัศวินนั้นเริ่มแพร่หลายเมื่อใดกันแน่ ? บททดสอบของการก้าวเข้าสู่อาชีพอัศวินล่ะมีอะไรบ้าง ? ดังนั้นวันนี้ เรามาทำความรู้จักกับอัศวินกันเถอะ !
แรกเริ่มเดิมที ว่ากันว่ามีคนประกอบอาชีพ “นักรบบนหลังม้า” มาตั้งแต่สมัยโบราณกาลแล้ว แต่ความต้องการ “บุคคล” ที่มีความสามารถ ทั้งยังกล้าหาญเกรียงไกรพอจะดูแลอาณาเขตได้ ทำให้อาชีพอัศวินเพิ่งมาแพร่หลายจนทั่วทวีปยุโรปในศตวรรษที่ 14 นี้นี่เอง
อัศวิน จัดว่าเป็นผู้มีความสง่างามที่สุดในห้วงเวลานั้น พวกเขาเป็นมากกว่าทหารธรรมดา ๆ ด้วยการยึดถือความกล้าหาญ ความโอบอ้อมอารี และมีคุณธรรมเป็นที่ตั้ง อัศวินในทุกวันนี้ล้วนได้รับแรงบันดาลใจมาจากเหล่าวีรชนผู้กล้าหาญในอดีต พวกเขามักมีภาพจำเป็นชายในชุดเกราะโลหะเต็มตัวนั่งอยู่บนหลังม้าศึก มือถืออาวุธไม่ว่าจะเป็นหอกหรือดาบ บ้างก็มีภาพขณะกำจัดสัตว์ร้ายท่าทางน่ากลัวเหลือคณาอยู่

แต่นั่นก็เป็นเพียงอุดมคติเท่านั้น เพราะในความเป็นจริง การทำสงครามแต่ละครั้งไม่ได้ง่ายอย่างที่เรา ๆ ในยุคนี้สมัยนี้จะคิดออก
บ่อยครั้งที่เหล่าอัศวินถูกท้าทายและพ่ายแพ้ในสนามรบด้วยอาวุธของพลเดินเท้าสามัญธรรมดาที่ใช้เพียงหอก ธนู หรือหน้าไม้ เอาเข้าจริงอัศวินนั้นต่อสู้บนพื้นมากกว่าบนหลังม้าเสียอีก และที่สำคัญที่สุด คติคุณธรรมอันกล่าวถึงความกล้าหาญของอัศวินนั้นมักจะกลายเป็นความโหดร้าย เล่ห์กล และเรื่องของผลประโยชน์ไปเสียอย่างนั้น เรื่องราวที่จะเล่าต่อไปนี้จึงอาจต่างไปจากนิทานอัศวินที่เคยฟังกันมาบ้าง เพราะล้วนมาจากประสบการณ์จริงของเหล่าอัศวินที่มักจะเข้าร่วมสงครามและออกรบอยู่เสมอ ๆ
ภาคที่ 1: จุดเริ่มต้นมาจากการเป็นเด็กเลี้ยงม้า ณ บ้านของขุนนาง !

การศึกษาของเด็ก ๆ สมัยนั้นมักแบ่งตามเพศอย่างชัดเจน กล่าวกันว่าในขณะที่ลูกสาวมักจะได้เรียนวิชางานเรือน เช่น การปั่น การทอ และการเย็บผ้า ลูกชายของอัศวินก็มักจะได้รับการฝึกฝนศิลปะป้องกันตัวแขนงต่าง ๆ เพื่อสืบทอดการเป็นอัศวินตั้งแต่เกิด จนกระทั่งเหล่าลูกชายอายุได้ 7 ปี พวกเขาจะถูกส่งตัวไปยังบ้านของขุนนางท่านอื่น (ที่มักจะเป็นขุนนางยศสูงกว่า) เพื่อทำงานและเรียนรู้วิถีอัศวินในฐานะเด็กรับใช้ (Page)
ฟังเหมือนจะดูดี แต่แท้จริงแล้วชีวิตของเด็กรับใช้ไม่ง่ายเลย เพราะเหนือกว่าเด็กรับใช้ยังมี ผู้ติดตาม (Squire) ซึ่งเป็นผู้รับใช้ของท่านอัศวินเป็นผู้สั่งสอนและซ้อมจนน่วมอีกทีหนึ่ง… ใช่แล้ว ท่านได้ยินไม่ผิดหรอก คำว่าซ้อมจนน่วมนั้นมีอยู่จริง เนื่องด้วยเหล่าผู้ติดตามมักได้รับอนุญาตให้ “ซ่อม” พฤติกรรมการเรียนรู้ด้านต่าง ๆ ของเด็กรับใช้จนกว่าจะเข้าร่องเข้ารอยอัศวินเลยนั่นล่ะ งานนี้ถ้าหากเหล่าเด็กชายผู้ใฝ่ฝันอยากเป็นอัศวินบนหลังม้าเผลอไผลเหม่อลอยระหว่างวันนิดหน่อยก็เป็นอันเสร็จโจร โดนพี่ ๆ สั่งซ่อมเป็นแน่แท้ !
ว่าด้วยเรื่องวิชาการเรียนของเหล่าเด็กรับใช้กันบ้าง อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าเด็กรับใช้จะได้เรียนรู้วิถีอัศวินในบ้านของขุนนาง ซึ่งวิถีนั้นเองก็เริ่มจากวิชาขี่ม้า (Horse-riding) โดยเด็ก ๆ จะไม่ได้เรียนเพียงแค่การขี่ม้าธรรมดาเพียงอย่างเดียว แต่พวกเขาจะได้เรียนรู้การขี่ม้าไปใช้หอกแทง “เป้าหมุน” ที่มีขนาดเป้าเล็กใหญ่ต่างกันไปด้วย
ถัดจากวิชาขี่ม้า พวกเขาจะได้เรียนวิชามวยปล้ำ (Wrestling) ชกมวย (Boxing) และฝึกวิ่งอย่างจริงจังตามลำดับ เมื่อเสร็จจากสามวิชานี้แล้ว เด็กรับใช้จะต้องเรียนรู้การโจมตีจากหุ่นเสียบไม้ที่มีรูปร่างคล้ายมนุษย์ เจ้าหุ่นนี้จะถือโล่เอาไว้เพื่อรอให้เด็กตีเข้ากลางโล่ให้ได้ โดยทุกครั้งที่หุ่นถูกตี มันจะหมุนไปรอบ ๆ และไม่หยุดนิ่ง ทำให้เด็กรับใช้ต้องหมั่นระมัดระวังและเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อตามตัวหุ่นให้ทันเสมอ
ไม่เพียงเท่านั้น เหล่าเด็กรับใช้แสนทรหดอดทนยังต้องเรียนวิชาการใช้ดาบและรับมือดาบเป็นลำดับถัดมา และวิชาที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยคงเป็นวิชาที่ว่าด้วยการล่าสัตว์ พวกเขาจะถูกสอนให้เลี้ยงเหยี่ยวสำหรับล่า สอนให้ฝึกการใช้ธนูและแข่งขันกันเองระหว่างหมู่เด็กรับใช้ด้วยกัน ตลอดจนสอนวิธีจัดการกับสัตว์ที่ล่าได้เพื่อส่งต่อให้โรงครัวเป็นลำดับสุดท้าย
การฝึกฝนและสังเกตจากผู้ติดตามจะทำให้เด็กรับใช้ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง ในหลายครั้งพวกเขาจะถูกดึงตัวไปช่วยรับใช้ในห้องโถงใหญ่ยามท่านอัศวินกลับมารับประทานอาหาร (ในงานนี้จะได้เรียนวิชามารยาทไปในตัว) ไม่ก็ต้องทำงานในคอกสัตว์ต่าง ๆ ในบ้าน โดยคอกทุกคอกต้องสะอาดอยู่ตลอดเวลา หากยังเหลือเวลาอีกก็ต้องไปช่วยทำความสะอาดอุปกรณ์ชุดเกราะของท่านเจ้าบ้านให้เงางาม
สุดท้ายนี้ เหล่าพี่ ๆ ผู้ติดตามจะสอนวิชาศิลปะแขนงต่าง ๆ ให้แก่เด็กรับใช้ พวกเขาจะได้เรียนการร้อง การเต้น การเล่นเครื่องดนตรีอย่างปี่และพิณ แถมยังเรียนภาษาละตินและฝรั่งเศสไปด้วย โดยว่ากันว่าทักษะเหล่านี้ล้วนสำคัญต่อการเข้าสังคมและสามารถต่อยอดไปยังการทำงานเสมียนได้อีก และที่ขาดไม่ได้เลยคือการหมั่นเข้าพบพระเป็นประจำ ด้วยเหตุที่ว่าพระหรือนักบวชจะเป็นผู้ขัดเกลาวิชาความรู้ด้านศาสนาให้นั่นเอง
ภาคที่ 2: ก่อนจะเป็นอัศวินต้องเป็นยอดมือขวา

มาถึงขั้นตอนถัดไปของการเรียนรู้เพื่อเป็นอัศวินกันบ้าง หลังจากที่เหล่าเด็กรับใช้ได้เรียนรู้วิชาขั้นต้นกันมากว่า 7 ปีแล้ว เมื่อพวกเขาอายุได้ 14 ปี ก็จะได้รับการเลื่อนขั้นเป็น “ผู้ติดตาม” ในที่สุด แต่การเป็นผู้ติดตามนั้นไม่ได้หมายความว่าพวกเขาทุกคนจะได้เป็นอัศวินในภายภาคหน้าหรอก น้อยคนนักที่จะมีความสามารถครบพร้อมเตะตากรรมการจนได้เป็นอัศวินเข้าจริง ๆ
ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้รับใช้ส่วนใหญ่เป็นไปเพื่ออำนวยความสะดวกแด่อัศวินต้นสังกัด และไม่ใช่ว่าผู้ติดตามทุกคนจะมีหน้าที่ฝึกปรือฝีมือให้เด็กหน้าใหม่กันหมด เพราะบางส่วนยังต้องทำงานอื่น ๆ เช่น จัดเตียงให้แก่นายท่าน เตรียมช่วยนายท่านสวมชุดเกราะยามออกศึก และดูแลบ้านหรือปราสาท
หากกล่าวถึงงานดูแลบ้านแล้วคงเป็นที่น่าเสียดายหากไม่พูดถึงวิถีชีวิตของพวกเขาในบ้านขุนนาง ผู้ติดตามที่ต้องเฝ้าปราสาทนั้นจะได้รับอิสระค่อนข้างมาก พวกเขามีหน้าที่รับใช้บรรดานายหญิงของปราสาทเป็นหลัก หากยังเหลือเวลาว่างจริง ๆ ก็มักจะนั่งเล่นหมากรุก เดินเล่นในสวน หรือไม่ก็ออกไปล่าสัตว์บริเวณใกล้ ๆ กับปราสาท เรียกได้ว่าแม้ไม่ได้มียศสูงสุดแต่ก็มีความสุขดีเหมือนกัน
แต่สำหรับผู้ติดตามหลายคนที่ไม่ได้มีงานดูแลบ้าน พวกเขากลับมีชีวิตที่สมบุกสมบันกว่านั้น โดยหลายคนที่มีโอกาสติดตามนายท่านของตนออกผจญภัยไปจนทั่ว พวกเขามักจะมีโอกาสได้เข้าร่วมงานประลองอยู่เสมอ ๆ หากนายท่านต้องการสิ่งใด ไม่ว่าจะเป็นอาวุธหรือม้าตัวใหม่ พวกเขาต้องจัดหามาให้ได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้เมื่ออัศวินต้องเข้าร่วมสงคราม เขาจะคัดเลือกผู้ติดตามทั้งสิ้นสองคนเพื่อรบเคียงบ่าเคียงไหล่ด้วย เรียกได้ว่าผู้ติดตามที่มีโอกาสเช่นนี้จะมีประสบการณ์โชกโชนเลยทีเดียวล่ะ
เพื่อน ๆ คงจะได้เห็นกันแล้วว่าเส้นทางการเป็นอัศวินนั้นไม่ง่ายเลย พวกเขาล้วนต้องตรากตรำ ฝึกฝนอย่างหนักหน่วงเพื่อให้เป็นยอดขุนพลผู้มีความสามารถรอบด้านจริง ๆ ทั้งยังจะเห็นได้เลยว่าอัศวินเองก็ต้องเข้าสังคมเก่งมิใช่น้อย เพราะในวัฒนธรรมการแต่งตั้งอัศวินบางวัฒนธรรมนั้น อัศวินจะต้องได้รับการแต่งตั้งจากอัศวินท่านอื่นเท่านั้น แหม งานนี้ต่อให้เก่งกาจก็ยังไม่พอ ต้องถูกใจพ่อยกแม่ยกทั้งหลายอีกต่างหาก ! เหนื่อยไม่ใช่เล่นเลยนะเนี่ย !!
บรรณานุกรม
Phillips, Charles, and Craig Taylor. The Complete Illustrated History of Knights & the Golden Age of Chivalry. Amness Pub., 2010.
Prestwich, Michael, and Wongchat Wanthanā. คู่มือนักรบยุคกลาง. ยิปซี, 2560.
“กว่าจะเป็นอัศวิน.” www.thairath.co.th, 20 May 2017, www.thairath.co.th/newspaper/columns/947160.
เรียบเรียงโดย : ธมลวรรณ กระต่ายทอง (นักศึกษาฝึกงาน)
บทความที่เกี่ยวของ :