1168 PUBLISHING
สาระแฟนตาซี

รู้หรือไม่ ? ซอมบี้ที่ว่าน่ากลัว แท้จริงแล้วน่าสงสาร !?

…แฮ่ ฮื่อ ฮื่อออออออ ฮ่า ฮื่อออ กรรร !!

        แค่ก ๆ อย่าเพิ่งตกใจเลื่อนหนีกันไปก่อนนะ เมื่อสักครู่เราแค่ขอพื้นที่ลองลูกคอเท่านั้นเอง …ก็แหม บทความของเราในวันนี้จะเล่าเรื่องราวของเจ้าของเสียงฮืดฮาดที่มีชื่อว่า “ซอมบี้” กันนี่นา ถ้าพร้อมแล้วก็ตามมาได้เลย แต่ก่อนไปขอลองร้องแบบซอมบี้อีกทีนะ …ฮื่อ ฮ่าาา กรรรร !!

ประเด็นของวันนี้

      • ทำความรู้จักกับซอมบี้
      • ซอมบี้มีต้นกำเนิดมาจากไหนกันนะ
      • ซอมบี้และลัทธิวูดู

ทำความรู้จักกับซอมบี้

     เมื่อกล่าวถึงซอมบี้ (Zombie) จากมุมมองของนิทานพื้นบ้านและวัฒนธรรมสมัยนิยมต่าง ๆ อย่างนวนิยาย การ์ตูน ตลอดจนภาพยนตร์ เรามักเห็นพ้องต้องกันว่าเจ้าผีดิบพวกนี้ล้วนแล้วแต่เคยเป็นมนุษย์ที่มีชีวิตและจิตใจมาก่อนทั้งนั้น… เสียแต่ตอนตายพวกเขาดันตายไม่จริง แม้จะมีมิตรสหายจัดงานศพแถมฝังลงหลุมให้เรียบร้อย แต่ก็ยังอุตส่าห์ลุกขึ้นมาซ่าไล่กัดกินคนอื่นให้สยดสยองกันได้หน้าตาเฉยอีกอย่างนั้นแหละ

     ทั้งนี้ทั้งนั้น ความน่ากลัวของซอมบี้ไม่ได้มีแค่การคลานขึ้นมาจากหลุมเพื่อทักทายทุกคนที่พบเห็นเท่านั้นหรอกนะ เพราะความน่ากลัวจริง ๆ มันอยู่ที่ “ไวรัสซอมบี้” ซึ่งจะแพร่ใส่ผู้เคราะห์ร้ายที่โดนซอมบี้กัด (หรือสัมผัสสารคัดหลั่งของมัน) จนกลายร่างเป็นซอมบี้ไปอีกคนยังไงล่ะ

     พูดมาถึงตรงนี้แล้วบางคนอาจไม่เห็นภาพเนื้อตัวและการใช้ชีวิตของซอมบี้สักเท่าไหร่ ถ้าว่ากันแบบง่าย ๆ ซอมบี้มักถูกฉายภาพว่าเป็นอมนุษย์ที่แข็งแกร่งทว่าใช้ชีวิตอยู่ด้วยร่างกายอันเน่าเปื่อย การมีชีวิตอยู่ของซอมบี้นั้นมักเป็นไปเพื่อ “การกิน” แต่เพียงอย่างเดียว และโดยปกติแล้วพวกมันจะไม่มีการสื่อสารระหว่างซอมบี้ด้วยกัน เว้นเสียแต่ส่วนที่ร้องฮึดฮัดใส่กันเป็นบางที… อันนี้ก็แปลไม่ถูกเหมือนกันว่ามันคุยอะไรกันล่ะเออ !

ซอมบี้มีต้นกำเนิดมาจากไหนกันนะ

     เรื่องเล่าซอมบี้ได้รับการกล่าวถึงมาหลายศตวรรษแล้ว โดยสันนิษฐานว่าจุดเริ่มต้นของซอมบี้นั้นมีมาตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 17 หรือในยุคที่เหล่าทาสชาวแอฟริกันตะวันตกถูกเกณฑ์ไปใช้แรงงานที่สวนอ้อย เงื่อนไขอันโหดร้ายทารุณของนายทาสทำให้ทาสมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบากและไม่มีอิสระใด ๆ เลยแม้แต่นิดเดียว นอกจากนี้ รายงานหลายชิ้นยังกล่าวเสริมอีกว่า ชีวิตของทาสที่น่าสงสารในตอนนั้นได้สะท้อนมาเป็นเหล่าซอมบี้ผู้หิวโหยในเวลาต่อมานั่นเอง

     สำหรับแวดวงวิชาการ นักวิชาการชาวแอฟริกันเคยถกเถียงในหัวข้อที่เกี่ยวกับซอมบี้หลายครั้งหลายหน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชื่อของซอมบี้ ที่อาจมีที่มาจากคำว่า “nzambi” ในซึ่งหมายถึง “จิตวิญญาณ” ในภาษาคองโก หรือจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวซอมบี้เอง เช่น อารยธรรมกรีกโบราณอาจเป็นอารยธรรมแรกสุดที่กล่าวถึงความกลัวต่อพวกผีดิบ (Undead) เนื่องจากนักโบราณคดีค้นพบว่าในหลุมศพโบราณมีโครงกระดูกที่ถูกตรึงด้วยหินและวัตถุหนัก ๆ ไว้เป็นจำนวนมาก เสมือนกับว่าไม่อยากให้ร่างที่วายชนม์ไปแล้วได้ฟื้นคืนกลับมาเดินทอดน่องหลอนประสาทคนเป็นอีกครั้งนั่นล่ะ บรื๋อออ…

ซอมบี้และลัทธิวูดู

     มาถึงหัวข้อสุดท้ายที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้ เพราะลัทธิวูดูเองก็ถูกกล่าวถึงอยู่บ่อย ๆ พร้อมกับการพูดถึงซอมบี้เช่นกัน

     วูดู (Voodoo) เป็นลัทธิที่มีพื้นเพมาจากบริเวณแอฟริกาตะวันตก และแพร่หลายไปทั่วประเทศเฮติ (Haiti) คาบสมุทรแคริบเบียน บราซิล อเมริกาใต้ ตลอดจนสถานที่อื่น ๆ ที่มรดกทางวัฒนธรรมของชาวแอฟริกันกระจายไปถึง

     ในปัจจุบัน ผู้ที่ยังคงนับถือลัทธิวูดูส่วนหนึ่งเชื่อว่าซอมบี้เป็นแค่ตำนานปรัมปราเท่านั้น แต่ก็มีผู้นับถือลัทธิบางส่วนที่เชื่อว่า ซอมบี้คือคนที่ถูกชุบชีวิตโดยพ่อมดผู้ใช้วิชาวูดูจริง ๆ โดยผู้ที่ใช้วิชาทางไสยเวทได้นี้มีชื่อตำแหน่งว่า บอคอร์ (Bokor)

     บอคอร์ทั้งหลายมักมีกลวิธีในการใช้สมุนไพร เปลือกหอย ปลา ชิ้นส่วนสัตว์ กระดูกสัตว์ ตลอดจนวัตถุดิบต่าง ๆ ที่หาได้ในท้องถิ่นมาทำเป็นส่วนผสมของ “ผงแป้งซอมบี้” 

     ได้ยินชื่อก็น่ากลัวแล้ว มันคืออะไรล่ะเนี่ย ?

     ผงแป้งซอมบี้มีฤทธิ์ทำให้คนปกติธรรมดากลายเป็นซอมบี้ได้สมชื่อ เพราะเมื่อนำผงแป้งมาเข้ากระบวนการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ดู เราจึงได้พบว่าภายในผงแป้งนี้เต็มไปด้วยสารเคมีชนิดรุนแรงที่มีพิษต่อระบบประสาทอย่างเตโตรท็อกซิน (พบได้ในเนื้อปลาปักเป้าและสัตว์ทะเลสายพันธุ์อื่น ๆ) และสารพิษที่มีฤทธิ์กล่อมประสาทอีกด้วย ซึ่งอย่างหลังนี่เองที่ทำให้บอคอร์สามารถสั่งซอมบี้ได้ตามใจนึก

     แน่นอนว่าการใช้สารเคมีควบคุมเหยื่อย่อมมีข้อเสียเป็นอย่างมาก กล่าวกันว่าการใช้ผงแป้งดังกล่าวต้องเป็นไปอย่างระมัดระวังและคำนวณปริมาณอย่างเหมาะสม เพราะเตโตรท็อกซินสามารถทำให้เหล่าซอมบี้ทั้งหลายเกิดอาการข้างเคียงอย่างเดินลำบาก จิตสับสน และปัญหาทางระบบหายใจได้ (มิน่าล่ะถึงได้ฮืดฮาด… ฮืดฮาดกันใหญ่) และหากใช้ผงแป้งมากเกินไป เตโตรท็อกซินสามารถทำให้ร่างกายของซอมบี้เกิดอาการชาและโคม่าได้ไม่ยากอีกต่างหาก !!


     จบกันไปแล้วสำหรับเรื่องเล่าเกี่ยวกับซอมบี้ พอได้รู้ว่าแท้จริงแล้วซอมบี้มีที่มาจากแรงงานซึ่งทำงานอย่างเหนื่อยยากมาตลอดชีวิตก็อดรู้สึกสงสารไม่ได้เลยเนอะ… แต่ถ้าจะให้อยู่เฉย ๆ รอซอมบี้มากัดแขนก็ไม่ใช่เหมือนกันนะนี่ !

     อ๊ะ พูดแล้วนึกได้เลยว่าเดี๋ยวนี้ซอมบี้สมัยใหม่ไม่ได้แพร่เชื้อโดยการกัดอย่างเดียวแล้วนะ เพราะความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์นี่แหละที่เป็นแรงบันดาลใจให้นักเขียนทั้งหลายคิดได้ว่า “ซอมบี้ก็น่าจะเกิดจากการทดลองที่ผิดพลาดได้สิ !” ดังนั้นซอมบี้ในสมัยหลังถึงได้เกิดจากห้องทดลองได้ด้วย อย่างนาย “อลัน” ซอมบี้สมองเอไอ ตัวเอกจากเรื่อง “I’m Fine ZOMBIE And You ? อยู่บ้านซอมบี้กับพี่ไหมน้อง” นั่นเอง ! ตนนี้ก็ซอมบี้ตัวเอ้เหมือนกัน แถมยังแพร่เชื้อไปครึ่งโลกแล้วอีกต่างหาก ถ้าใครสนใจอ่านนิยายที่มีซอมบี้ต่อแล้วล่ะก็ขอเชิญได้เลย !!


บรรณานุกรม

History.com Editors. “Zombies.” History.com, A&E Television Networks, 13 Sept. 2017, www.history.com/topics/folklore/history-of-zombies.

“Where Do Zombies Come from?” BBC Culture, BBC, 31 Aug. 2015, www.bbc.com/culture/article/20150828-where-do-zombies-come-from.

Haiti & the Truth About Zombies, www.umich.edu/~uncanny/zombies.html.

คอสมอส . สัตว์พิสดารจากเทพนิยาย. ไทยควอลิตี้บุ๊ค (2006), 2560.

เรียบเรียงโดย : ธมลวรรณ กระต่ายทอง