“อิลราชคำฉันท์” เป็นชายหนึ่งเดือน เป็นหญิงหนึ่งเดือน… นิทานอะไรกันนี่ !?
เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้เป็นนิทานของไทยที่ได้เค้าเรื่องมาจากพระราชนิพนธ์บ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์ ความน่าสนใจของนิทานเรื่องนี้อยู่ที่ตัวละครเอกซึ่งเป็นได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิงในคนเดียวกันนี่ล่ะ พูดเลยว่าว้าวมาก แถมกลิ่นความวายติดมาด้วยล่ะเออ !!
เรื่องราวของ ‘อิลราชคำฉันท์’ นั้นเริ่มต้นจากความคิดของพระรามที่ต้องการทดสอบความจงรักภักดีของหัวเมืองต่าง ๆ ภายหลังปรึกษากับพระอนุชาทั้งสอง คือ พระภรตกับพระลักษมณ์ พระลักษมณ์ทูลเสนอพระรามว่า ทำพิธีอัศวเมธก็เหมาะสมดี และยกตัวอย่างว่าพระอินทร์เองก็เคยทำพิธีนี้เช่นกัน โดยในครั้งนั้นพระอินทร์ได้ฆ่ายักษ์ตนหนึ่งขณะที่กำลังบำเพ็ญตบะจนถึงแก่ความตาย แต่เมื่อพระองค์ทรงนึกถึงความผิดที่ได้ทำไป พระอินทร์จึงได้ทำพิธีอัศวเมธเพื่อล้างบาป พระรามฟังจบแล้วก็ทรงชื่นชมเรื่องที่พระอนุชาเล่ามา แล้วพระองค์ก็ทรงเล่าเรื่องอิลราชให้พระอนุชาฟังบ้าง
เริ่มเรื่องอิลราชคำฉันท์
ณ วันหนึ่งในฤดูใบไม้ผลิ ‘ท้าวอิลราช’ โอรสของกษัตริย์ผู้ทรงคุณธรรมนึกอยากล่าสัตว์ พระองค์จึงเสด็จเข้าป่าพร้อมกับเหล่าบริวารชายทั้งหลาย ระยะการล่าของชาวนครพลหิการุดไปไกลจนเข้าเขต ‘เชิงเขาไกรลาส’ ซึ่งเป็นสถานที่หวงห้ามโดยไม่รู้ตัว และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของความโกลาหล…
กล่าวกันว่าบริเวณเชิงเขาไกรลาสเป็นสถานที่ส่วนตัวของพระอิศวร มหาเทพผู้ทรงอำนาจ ซึ่งในขณะนั้นพระองค์กำลังจำแลงกายเป็นสตรีและหยอกล้อกระหนุงกระหนิงกับพระอุมาเทวี (พระชายา) อยู่พอดี สรรพชีวิตรอบบริเวณนั้นที่ไม่ว่าจะเป็นสิงสาราสัตว์ ตลอดจนต้นไม้ล้วนกลายเป็นเพศหญิงตามอำนาจของพระอิศวรทั้งสิ้น แน่นอนว่าเมื่อชาวคณะล่าสัตว์ล่วงเข้ามาถึงเขตของเทพเจ้า พวกเขาทั้งหมดย่อมกลายเป็นหญิงไปด้วย !
ท้าวอิลราชรู้สึกตกใจมากที่ตนเองและผู้ติดตามกลายเป็นหญิงอย่างฉับพลัน ทั้งยังเห็นพระอิศวรในร่างสตรีอยู่ใกล้ ๆ ด้วยอีก พระองค์จึงรีบไปเข้าเฝ้าพระอิศวรเพื่อขออภัยที่เข้ามาบุกรุกที่รโหฐาน และขอร้องให้ได้กลับมาเป็นชายดังเดิม แต่พระอิศวรไม่ยอมประทานพรให้ ด้านพระอุมาเทวีเห็นแล้วนึกสงสาร จึงกล่าวว่าจะประทานพรให้ท้าวอิลราชกึ่งหนึ่ง ท้าวอิลราชจึงขอต่อรองว่า…
หากเป็นเช่นนั้น ก็ขอให้เดือนหนึ่งได้เป็นหญิงที่มีรูปงามหาใครเปรียบได้
แล้วให้กลับเป็นชายในอีกหนึ่งเดือนสลับกันไป
พระอุมาเทวีตอบตกลงและประทานพรให้ตามปรารถนา ทั้งยังแถมด้วยว่า เมื่อใดที่ท้าวอิลราชเป็นเพศหนึ่ง พระองค์จะจำเหตุการณ์ที่เกิดในขณะเป็นอีกเพศหนึ่งไม่ได้ นับแต่บัดนั้นมา ท้าวอิลราชจึงมีร่างที่เป็นหญิงนาม ‘อิลา’ สลับไปมาพร้อมความทรงจำที่ขาด ๆ หาย ๆ
ในเดือนแรกที่ได้เป็นสตรี นางอิลาและบริวารพากันเที่ยวเล่นในป่าและสระน้ำอย่างสนุกสนาน ซึ่งสระแห่งนั้นยังมีพระพุธ พรตผู้กำลังบำเพ็ญสมาธินั่งอยู่ไม่ไกล เมื่อพระพุธลืมตาขึ้น พระองค์จึงได้เห็นนางอิลาสาวสวยเต็มสองตาและบังเกิดเป็นความรักแรกพบ หลังจากนั้นพระพุธจึงขึ้นมาจากสระและชักชวนนางอิลาไปยังอาศรมเพื่อสอบถามว่านางเป็นใครมาจากไหน แต่ตัวนางอิลาเองก็ตอบไม่ได้ ซ้ำแล้วบริวารก็ตอบไม่ได้ด้วยเช่นกัน พระพุธจึงใช้ญาณตรวจสอบเหตุการณ์ทั้งหมดดู เมื่อเข้าใจแล้วว่าเกิดเรื่องอะไรขึ้น พระพุธจึงบอกนางบริวารทั้งหลายให้กลายเป็นกินรีและอาศัยอยู่ในเขาแห่งนี้ พระองค์จะเป็นผู้หาอาหารมาเลี้ยงดูให้ไม่อดอยาก และจะหาชายมาเป็นสามีให้ทุกคนด้วย
หลังจากพวกกินรีไปพ้นจากอาศรมแล้ว พระพุธจึงชวนให้นางอิลามาเป็นชายาของพระองค์ เวลาผ่านไปจนครบกำหนดหนึ่งเดือน นางอิลาก็กลับมาเป็นท้าวอิลราช ท้าวอิลราชที่ไม่มีความทรงจำในช่วงเดือนที่ผ่านมาถามพระพุธว่า บริวารทั้งหมดหายไปไหนเสียแล้ว พระพุธไม่ต้องการให้ท้าวอิลราชเสียใจ จึงตอบไปว่าเกิดเหตุร้ายขึ้นกับบริวารเหล่านั้น ทุกคนล้วนถูกหินตกลงมาทับตายหมดแล้ว ส่วนท้าวอิลราชรอดได้เพราะเข้ามาอาศัยในอาศรมของพระพุธ
ท้าวอิลราชได้ยินดังนั้นก็รู้สึกเศร้าโศกเสียใจอยู่ดี พระองค์จึงกล่าวต่อพระพุธว่า พระองค์จะยกราชสมบัติให้โอรสครองต่อไป ส่วนตนเองนั้นจะเข้าป่าและเป็นโยคี ฝ่ายพระพุธเข้าใจและไม่ลืมชักชวนให้ท้าวอิลราชมาอยู่ด้วยกัน แน่นอนว่าท้าวอิลราชตอบตกลง และเลือกที่จะบำเพ็ญพรตภาวนาตลอดหนึ่งเดือน ครั้นครบเดือน พระองค์ก็กลับเพศเป็นสตรีอีกครั้ง จากนั้นจึงกลับไปกลับมาจนถึงเวลาที่นางอิลาคลอดพระโอรสองค์หนึ่ง ซึ่งพระพุธตั้งชื่อให้ว่า ปุรุรพ
เมื่อได้เวลาคืนร่างบุรุษอีกครั้ง พระพุธจึงใคร่ครวญถึงความเป็นอยู่ของท้าวอิลราชเสียใหม่ ครั้งนี้พระองค์จึงเชิญพระมหาฤาษีผู้มีชื่อเสียงหลายตนมาปรึกษากันเพื่อหาทางแก้ไขให้ท้าวอิลราชได้กลับมาเป็นบุรุษตลอดดังเดิม ขณะที่ประชุมกันอยู่นั้นเอง พระมหามุนีกรรทมพรหมบุตร บิดาแห่งท้าวอิลราชก็มายังอาศรมพร้อมด้วยพระมุนีอื่น ๆ พอดี หลังพระองค์ทราบเรื่องแล้วจึงกล่าวว่า วิธีแก้ไขมีแต่การอาศัยอำนาจของพระอิศวรเท่านั้น ดังนั้นควรให้ทำพิธีอัศวเมธเพื่อบูชาพระอิศวร หลังทำพิธีจนพระอิศวรพอพระทัย ท้าวอิลราชจึงได้กลับมาเป็นชายตลอดไป ไม่ต้องกลับไปเป็นหญิงอีกแล้ว
ท้ายที่สุด เรื่องราวของท้าวอิลราชจบลงเมื่อพระองค์กลับเข้าสู่นครพลหิกา แล้วออกไปสร้างนครใหม่ที่มีชื่อว่า ประดิษฐาน เพื่อให้เป็นที่สถิตของพระปุรุรพต่อไป…
บรรณานุกรม
พระราชนิพนธ์ บ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์ (จากฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จัดพิมพ์เผยแพร่)
Admint. “อิลราชคำฉันท์.” วชิรญาณ, 17 Mar. 2017, vajirayana.org/%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B8%A5%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B8%89%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B9%8C.
เรียบเรียงโดย : ธมลวรรณ กระต่ายทอง
ภาพ นักศึกษาฝึกงาน : Minori Pinorin