เสื้อผ้าในนิยายบอกอะไรได้บ้างนะ?
เสื้อผ้าในนิยายนั้นมีความหมาย หลายคนที่เขียนนิยายอาจจะมองข้ามสิ่งเหล่านี้ บางทีอาจจะเป็นสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ตัวละครแต่งตัวเนี้ยบ รีดชุดเรียบกริ๊บ เอาเสื้อออกนอกกางเกง ผูกเนกไทไม่เรียบร้อย เห็นไหมว่าแค่มีคำบรรยายตัวละครเหล่านี้ก็บ่งบอกบุคลิกเบื้องต้นของตัวละครได้แล้ว แล้วการแต่งกายบอกอะไรได้มากกว่านั้นอีกล่ะ ? วันนี้แอดจะมาแนะนำบางส่วนกัน🧥👖

– บอกฐานะ –
ชุดบอกฐานะได้อย่างไร แน่นอนว่าทุกยุคทุกสมัยหรือแม้แต่นิยายแฟนตาซีก็ตาม ย่อมมีวัตถุดิบที่หายาก เช่น ใครนุ่งห่มด้วยขนสัตว์แท้ยิ่งแสดงว่ายิ่งใหญ่ เช่น ห่มขนหมี จิ้งจอก มาปัจจุบันก็กลายเป็นความหรูหราอย่าง ขนมิงก์ขนกระต่าย ลามมายังหนังงู หนังจระเข้ (แม้ปัจจุบันจะรณรงค์ลดละเลิกการใช้ส่วนประกอบของสัตว์ก็ตาม) ผ้าไหมที่เงางามมีมูลค่ามากกว่าผ้าคอนตอนธรรมดา ผ้าทอลายยิ่งยากเท่าไรยิ่งแพงเท่านั้น รวมไปถึงเครื่องประดับต่าง ๆ อย่างกระดุมการใช้พลาสติก หิน แร่ หรือแม้แต่เพชรก็แตกต่างกัน ลามไปจนเนื้อผ้า เงาหรือด้าน ผ้าชนิดใด ยืดไม่ยืด ทรงอย่างไร เข้ารูปหรือหลวม ดังนั้นอย่าลืมใส่รายละเอียดเสื้อผ้าด้วยนะเพื่อเพิ่มเสน่ห์ให้แครักเตอร์ของเรา
– บอกอาชีพ –
แน่นอนว่าหลากหลายอาชีพนั้นแตกต่างกัน และมีเครื่องแบบในตัวของมัน แต่สำหรับเรื่องแนวแฟนตาซีเราสามารถจำแนกความแตกต่างได้เช่นกันอย่างหมอผีมักจะใส่ชุดรุ่มร่าม ผ้าหลาย ๆ ชั้น อาจจะมีขนนก ขนสัตว์ประดับ ใส่เครื่องประดับกระดูก หรืออัศวินที่ใส่ชุดเกราะแตกต่างกัน จำแนกความเก่งหรือลำดับชั้นด้วยจำนวนชิ้น สี วัสดุ หรือลวดลาย ที่นำมาผลิตตกแต่ง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเพียงภาพลักษณ์ที่คนเราชินตา ปัจจุบันเราสามารถเปลี่ยนแปลงสไตล์การแต่งตัวได้เสมอ หมอผีใส่สูท หรือพระเจ้าที่แต่งตัวเหมือนโฮมเลส ก็มีเหมือนกันนะ ลองปรับดูแล้วใส่รายละเอียดให้โดดเด่นผ่านเครื่องประดับหรือทรงชุดแทนก็ได้นะ
– บอกเอกลักษณ์ –
เอกลักษณ์ประจำตระกูล สีของชุดนักเรียน กริฟฟินดอร์ก็คนละสีกับสลิธีริน ทีมกีฬาต่าง ๆ เป็นต้น เราควรจำแนกให้แตกต่างกัน โดดเด่นซึ่งสิ่งเหล่านี้ควรมีบางอย่างในกลุ่มเดียวกันที่เหมือนกันเช่น เครื่องประดับเดียวกัน หรือสีเดียวกัน หรือมีสัญลักษณ์อะไรบางอย่างที่เหมือนกันรอยสัก สีตา ก็บอกเอกลักษณ์ของเผ่าพันธุ์หรือกลุ่มคณะได้เช่นเดียวกัน แต่หากอยู่ในเครื่องแต่งกาย สีและลายเป็นสิ่งที่จดจำง่ายที่สุด เพราะนิยายหลายเรื่องไม่มีภาพปกหรือภาพประกอบให้คนเห็นชัด ๆ ดังนั้นลองบรรยายเสื้อผ้าของพวกเขาดูนะ
– บอกค่านิยม –
ความเชื่อบางอย่างมันก็แปลก ๆ ใช่ไหมคะ บางคนเอาสิ่งของฝังตามร่างกายให้ปูดนูนออกมา ทำให้กลายเป็นแผลเพื่อให้มีรอยแผลเป็น อย่างค่านิยมสมัยก่อนที่ทาสจะต้องโดนเอาเหล็กเผาไฟเป็นลายต่าง ๆ จี้ตามร่างกายไม่ว่าอกบ้าง หลังบ้างเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าเขาเป็นทาสของใคร ความสวยงามบางอย่างมันก็เฉพาะตัวของเขาจริง ๆ นะคะ อย่างเท้าดอกบัวของจีนที่หญิงสาวจะถูกมัดเท้าแต่เด็กยัดใส่รองเท้าเล็ก ๆ เพื่อความเป็นสาวขนชั้นสูง จนกระทั่งพิการเดินไม่ได้ต้องให้ผู้คนอุ้มไปไหนมาไหน (เขาคิดว่าสาวชั้นสูงไม่ต้องทำอะไรก็ได้ นั่งสวย ๆ พอ) หรือการพอกหน้าด้วยสารปรอทในยุคอลิซซาเบธ ที่ทำใบหน้าซีดขาวแล้วทาปากให้แดงก่ำ คลอเซตที่ยิ่งรัดแน่นเท่าไรยิ่งสวย จนหายใจไม่ออกหน้ามืดกันถ้วนหน้า มันบ่งบอกถึงค่านิยมได้เป็นอย่างดีเลยค่ะ แต่บางทีย้อนกลับไปมองแล้ว อันตรายเหมือนกันนะคะเนี่ย
– บอกยุคสมัย –
แค่เครื่องแต่งกายท่อนบน ถ้าเราไล่มาตั้งแต่ยุคหิน โอ้โห วิวัฒนาการแต่ละยุคนี่สวยงามแตกต่างกันเลยค่ะ เราสามารถเรียนรู้การแต่งกายยุคสมัยผ่านประวัติศาสร์ได้ค่ะ ซึ่งสิ่งที่จะมาพูดถึงในวันนี้คือ การเตือนนนนน ให้แก่นักเขียนทุกท่านว่า ควรตระหนักถึงยุค ถึงปี ถึงประเทศด้วยนะคะเวลาเราจะเลือกมาสักชุด แม้ว่าจะเป็นแฟนตาซีก็ตาม ถ้าเรามีไทม์ไลน์ที่อ้างอิงกับปัจจุบันได้ก็จะทำให้เครื่องแต่งกายไม่มั่วซั่วได้ค่ะ ยุคกลาง ยุคปฏิวัตรอุตสาหกรรม ยุคมิเลเนี่ยม ใครทำยุคอียิปต์มีตัวละครใส่สูทแอดจะกรีดร้องเลยนะคะ แต่ใช่ว่าจะมีไม่ได้นะคะ แต่ถ้ามีเหตุผลอ้างอิงด้วย มันจะทำให้เรื่องราวมีเส่น่ห์ขึ้น เช่นตัวละครนั้น ๆ อาจจะเห็นอนาคตได้ การแต่งเครื่องแต่งกายเลยผสมรูปทรงปัจจุบันไปเป็นต้น เราอาจจะต้องศึกษาเช่น สูทมีมายุคใด กระโปรงแต่ละยุคก็บานไม่เท่ากัน ยุคกรีกก็จะเป็นทูนิคไม่บาน อลิสเบธก็เป็นสุ่มบานหน่อย ยุคเอมไพร์เป็นชุดเดรสรัดใต้อกยาวตรง หรือแม้กระทั่ง ยุค20 30 40 ก็แตกต่างกัน แถมแต่ละประเทศก็ระยะเวลาไม่เท่ากันนะคะ เช่นของไทยเรากว่าจะนำชุดของฝรั่งมาผสมสไตล์การแต่งตัวก็ช้ากว่าเขาไป 10 ปีแล้ว (แหมก็กว่าจะเรียนรู้ต่างชาติทีใช้เวลาเดินทางตั้งกี่เดือน ไม่ง่ายเหมือนอินเตอร์เนตในตอนนี้) อย่างไรก็ตามถ้าเราสังเกตยุคต่าง ๆ และนำมาใช้ เรียนรู้แต่ละสมัยที่มีเครื่องแต่งการและเครื่องประดับที่แตกต่างกัน ก็จะทำให้นิยายของเรามีความละเอียดและน่าสนใจขึ้นนะคะ
– บอกสถานที่ –
ครั้งนี้ไม่ได้หมายถึงเอกลักษณ์ของประเทศต่าง ๆ นะคะ แต่หมายถึงภูมิประเทศค่ะ เช่นในเมืองกับต่างจังหวัดก็จะแต่งกายแตกต่างกัน บนดอยกับชายหาดประชาชนก็จะแต่งกายไม่เหมือนกัน (อาจมีดีเทลของสีผิว สีผม ภาษาผนวกเข้าไป) สีเขียวทหารก็แตกต่างกันตามต้นไม้ของแต่ละประเทศ เขตที่เป็นพิษชุดอาจจะใช้หนังของสัตว์มีพิษหรือเครื่องแต่งกายที่มิดชิด เคลือบสารป้องกันต่าง ๆ สถานที่ลมแรงอาจจะเป็นเครื่องแต่งกายที่กระชับรัดตัวเพื่อไม่ให้ปลิวเกะกะ หรืออาจจะห้อยระโยงระยางเพื่อสื่อความพลิ้วของสถานที่ก็แล้วแต่ได้เลย บางอย่างก็ดูย้อนแย้งทะเลทรายร้อนตับแตกแต่ต้องแต่งกายมิดชิดเพื่อไม่ให้สูญเสียน้ำในร่างกายมากเกินไปเป็นต้น อย่างเงือกก็เหมาะกับชุดแนบตัวหรือชุดที่พลิ้วบางเบาลู่ไปกับน้ำ ไม่หนักเหมือนชุดมนุษย์บนบก ดังนั้นภูมิอากาศภูมิประเทศก็ทำให้เราต้องใส่ใจเรื่องเครื่องแต่งกายตัวละครเช่นกัน
การอธิบายเครื่องแต่งกายก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนักเพราะรายละเอียดของมันเยอะมากตั้งแต่หัวจดเท้าและคนคนเดียวก็แต่งกายหลากหลายสไตล์หลากหลายแบบ แต่ก็ช่วยให้ตัวละครมีภาพชัดขึ้น นักอ่านมองเห็นตัวละครในรูปแบบต่าง ๆ ได้ชัดเจน เราอาจจะค่อย ๆ อธิบายเครื่องแต่งกายบางส่วนในแต่ละอิริยาบถ หรือผ่านตัวละครอื่นที่มองมาเห็น ก็จะช่วยสร้างความไม่น่าเบื่อหรือยัดเยียดมากเกินไปได้นะคะ
หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์ต่อนักเขียนนักอ่านและทุก ๆ ท่านนะคะ ไว้จะหาบทความดี ๆ มาเมาท์มอยกันใหม่ค่า อยากได้บทความเรื่องอะไร สามารถคอมเมนต์มาได้นะคะทุกคน
#1168publishing #fantasy #แฟนตาซี #นิยายแฟนตาซี
FB: 1168group
Line:@1168group
IG : 1168group
Website: 1168group.com