กว่าจะเป็นจอหงวน

เวลาเพื่อน ๆ เปิดหนังหรือซีรี่ย์จีนก็คงเคยได้ยินคำว่า “จอหงวน” กันมาบ้างใช่มั้ยล่ะ แล้วรู้หรือไม่ว่าจริง ๆ แล้วจอหงวนคือใครและต้องทำยังไงถึงจะได้เป็นจอหงวน ต้องขอเกริ่นสักหน่อยว่ากว่าจะได้เป็นจอหงวนนั้นต้องผ่านการสอบสุดโหดหินซะก่อน ซึ่งความยากของการสอบนั้นเป็นที่เลื่องลือว่า โหด ! หนัก ! และเครียดมาก ๆ ต้องเตรียมตัวสอบกันเป็นปี ๆ เลยทีเดียว เพราะฉะนั้นอย่ารอช้ามาทำความรู้จักกับจอหงวนกันเลยดีกว่า !

การสอบจอหงวนคืออะไร ? 
 
การสอบจอหงวนคือระบบการสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อเข้ารับข้าราชการที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนานของจีน เริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อ 1300 ปีที่แล้วโดยเริ่มต้นเป็นครั้งแรกในปีค.ศ. 605 สมัยราชวงศ์สุย การสอบจอหงวนนั้นถือเป็นการเปิดโอกาสให้คนทุกชนชั้นที่มีความสามารถโดยแท้จริงไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใดก็ตามจะรวยหรือจนก็สามารถเข้าร่วมการสอบได้โดยไม่ใช่การคัดเลือกจากสายเลือดขุนนางด้วยกันหรือการใช้เส้นสาย ซึ่งจริง ๆ แล้วคำว่าจอหงวนนั้นไม่ใช่ชื่อของตำแหน่งข้าราชการแต่เป็นชื่อของผู้ที่ทำคะแนนได้สูงที่สุดในการสอบนั่นเอง
 
การสอบสุดหิน
 
ในการสอบจอหงวนนั้นเรียกได้ว่าเป็นการสอบที่โหดหินและหนักหนามาก ๆ ทั้งการอ่านหนังสือเตรียมสอบและระหว่างที่สอบ วิชาที่ใช้สอบก็จะครอบคลุมถึงศาสตร์การปกครองไปจนถึงเรื่อวัฒนธรรม ประเพณีตามลัทธิขงจื๊อ เช่น ยุทธศาสตร์ทางการทหาร กฏหมาย ปรัชญา ภูมิศาสตร์ คณิตศาสตร์ ฯลฯ การสอบจะใช้เวลาข้ามวันข้ามคืนผู้เข้าร่วมสามารถกินอยู่หลับนอนภายในห้องสอบได้เลย ซึ่งระยะเวลาก็จะต่างกันไปในแต่ละสนามสอบ ข้อสอบทั้งหมดเป็นข้อเขียนทุกคนจะต้องเขียนคำตอบให้เสร็จตามเวลาที่กำหนด เนื่องจากการสอบมีความกดดันเป็นอย่างมากเคยมีเรื่องเล่าว่ามีคนตายระหว่างการสอบหรือดีใจที่สอบผ่านจนเป็นบ้าสุดท้ายก็ไม่ได้รับราชการเลยก็มี
 
ยืนหัวเต่ามังกร
 
เต่ามังกรเป็นสัญลักษณ์ของจอหงวน สังเกตได้จากในท้องพระโรงของพระราชวังต้องห้ามจะมีประติมากรรมชิ้นหนึ่งเป็นรูปเต่ามังกร ผู้ที่สอบได้จอหงวนจะถูกให้ยืนเฝ้ารูปปั้นเต่ามังกรนี้ จึงเกิดเป็นสำนวนยืนหัวเต่ามังกรซึ่งสื่อถึงคุณลักษณะของคนที่คนเก่งเป็นอันดับ 1 หรือผู้ที่เชี่ยวชาญเป็นเลิศนั่นเอง ซึ่งปัจจุบันสำนวนนี้ถูกนำมาใช้กับเปรียบกับคนที่เป็นหัวกะทิในสาขาวิชานั้น ๆ เปรียบกับสิ่งของหรือสินค้าที่เป็นอันดับหนึ่งไม่มีใครเทียบได้
 
ด่านสุดท้ายคือฮ่องเต้
 
ด่านสุดท้ายของการสอบจอหงวน “ฮ่องเต้” จะเป็นผู้ทดสอบเพื่อหาอันดับ 1 จากผู้ที่ผ่านการสอบในระดับต่าง ๆ คือไล่ตั้งแต่ระดับชั้นแรกไปถึงสูงสุดคือ ระดับอำเภอ ระดับมณฑลหรือจังหวัด ระดับระดับประเทศ จนมาถึงด่านสุดท้ายคือระดับราชวังแห่งนครหลวง โดยผู้ที่สอบผ่านแต่ละระดับมาแล้วเท่านั้นถึงจะมีสิทธิ์เข้าสอบหน้าพระที่นั่งในระดับนครหลวง ในการสอบขั้นนี้ฮ่องเต้จะเป็นผู้ออกข้อสอบและควบคุมการสสอบเองทั้งหมดโดยไม่มีการคัดคนตกแต่เป็นการวัดอันดับว่าใครจะได้เป็นอันดับ 1 ของแผ่นดินได้ตำแหน่ง “จอหงวน” ส่วนอันดับ 2 และ 3 จะถูกเรียก “ป๋างเหยี่ยน” และ “ทั่นฮัว” ตามลำดับ
 
สวมเสื้อไหมปักกลับบ้านเกิด
 
หลังสิ้นสุดการสอบผู้ที่สอบได้จอหงวนจะได้รับพระราชทานรางวัลมากมากจากฮ่องเต้ รวมถึงชุดผ้าปักอันเป็นเอกลักษณ์ของจอหงวนพร้อมทั้งขบวนแห่เกียรติยศกลับไปส่งถึงบ้านเกิด เป็นเกียรติเป็นศรีแก่วงศ์ตระกูลก่อนจะกลับเข้ามารับราชการในวัง จึงเกิดเป็นสำนวน 衣锦还乡 (อีจิ่นหวนเซียง) แปลว่า สวมเสื้อไหมปักกลับบ้านเกิด ซึ่งหมายถึงคนที่จากบ้านเกิดหลังจากประสบความสำเร็จนั่นเอง
 
ซึ่งการสอบจอหงวนก็ถูกยกเลิกในปี 1905 เพราะว่าระยะหลังมีการทุจริตเกิดขึ้นมากมายรวมไปถึงมีการเก็งข้อสอบเกิดขึ้น และตัวข้อสอบเองก็ไม่ได้มีการพัฒนาให้ทันกับยุคสมัยจึงต้องยกเลิกการสอบไป การสอบจอหงวนถือว่าเป็นระบบที่มีประโยชน์มากเพราะทำให้ได้คนที่มีความสามารถได้เข้าสู่ระบบราชการและยังเปิดโอกาสให้คนทุกชนชั้นสามารถเข้าร่วมการสอบได้
 
จอหงวนที่ว่าเป็นเลิศยังต้องยอมให้กับเหิงหยางหวังซื่อจื่อ “ซูเซวียน” ผู้เพียบพร้อมทั้งรูปลักษณ์และปัญญา เมื่อต้องเข้าไปพัวพันกับเรื่องการเมืองเห็นทีต้องงัดกลยุทธ์ออกมาฟาดฟันกันสักหน่อย ติดตามเรื่องราวของเขาได้ใน ซื่อจื่อ ข้ามาเกิดเป็นท่านเสียแล้ว

เรียบเรียงโดยนักศึกษาฝึกงาน : วรัญญา
ภาพโดยนักศึกษาฝึกงาน : ramie_pp


Facebook Comments